top of page

11. การออกแบบและเทคโนโลยี ม.5 บทที่ 2 กิจกรรมที่ 2.2 การตัดสินใจเลือกปัญหาจากสถานการณ์ที่สนใจเพื่อพัฒนาโครงงาน

d.png
Untitled.jpg

1. ระยะเริ่มต้นโครงงาน

สำรวจสถานการณ์
     สถานการณ์ปัญหาที่จะพัฒนาเป็นหัวข้อโครงงานอาจได้จากการสำรวจสถานการณ์ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงเรียน บ้าน หรือชุมชน หรือ สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง รวมทั้งอาจได้จากการสืบค้นจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น หนังสือ วารสาร บทความ ข่าว แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ แหล่งเรียนรู้ท้องถิ่น

ตัวอย่างสถานการณ์ปัญหา
– ต้นไม้ในสวนสาธารณะของชุมชนแห้งตายเป็นจำนวนมาก
– ถนนในชุมชนข้างโรงเรียนมีลักษณะมืดและเปลี่ยว
– แหล่งน้ำในชุมชนเน่าเสียและมีกลิ่นเหม็น
– ไม่มีใครรดน้ำต้นไม้ที่โรงเรียนในช่วงวันหยุด
– ก๊อกน้ำถูกเปิดให้น้ำไหลทิ้ง 
– พ่อค้าในตลาดไม่รับซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้ที่ชาวสวนปลูกซึ่งสุกจนเกิดการเน่าเสีย

image-5.png

 จากตัวอย่างสถานการณ์ การที่พ่อค้าในตลาดไม่รับซื้อมะม่วงนำ้ดอกไม้ที่ชาวสวนปลูก ทำให้ชาวสวนสูญเสียรายได้เป็นเงินจำนวนมาก มะม่วงน้ำดอกไม้เป็นผลผลิตสำคัญของชุมชนและสร้างรายได้ให้ชุมชนมานาน อีกทั้งเป็นสินค้าส่งออกที่สามารถทำรายได้ให้แก่ประเทศไทยปีละหลายล้านบาท ดังนั้น หากสามารถ แก้ปัญหาการไม่รับซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้ของพ่อค้าได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรรายอื่น ๆ ด้วย

2. ระยะพัฒนาโครงงาน

ขั้นระบุปัญหา

จากตัวอย่างสถานการณ์พ่อค้าในตลาดไม่รับซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้ เพื่อให้ได้แนวคิดเกี่ยวกับการระบุปัญหาจากสถานการณ์ปัญหา จึงต้องทำความเข้าใจกับประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอย่างรอบด้าน เช่น สาเหตุ สาระสำคัญ เหตุการณ์ และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การระบุปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
– ผลมะม่วงน้ำดอกไม้ที่เก็บเกี่ยวมาเกิดการสุก เน่าเสีย ระหว่างเก็บรักษาและรอการขนส่ง
– มะม่วงน้ำดอกไม้ผลหนึ่งเกิดการสุก ทำให้มะม่วงที่เก็บรักษาในที่เดียวกันเกิดการสุกตาม
– ผลมะม่วงน้ำดอกไม้สุกช้ำง่ายเวลาขนส่ง

image-7.png

   ทั้ง 3 ปัญหา เกี่ยวข้องกับการสุกของผลมะม่วงที่เกิดจากเอทิลีน (ฮอร์โมนพืช ที่เร่งให้เกิดการสุกในผลไม้ โดยในระยะที่แก่เต็มที่แต่ยังเป็นสีเขียวอยู่ จะมีการเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีอัตราการหายใจเพิ่มขึ้น คลอโรฟิลล์สลายตัว การสร้างสารสี รส และกลิ่น เนื้อเยื่ออ่อนตัวลง และเตรียมพร้อมสำหรับการหลุดร่วง) ที่เกิดขึ้นในผลมะม่วงเอง เราจึงตัดสินใจเลือกปัญหาโดยพิจารณาจากความเกี่ยวข้องและผลกระทบของปัญหา เช่น จากสถานการณ์ตัดสินใจเลือก แก้ปัญหาที่ 1 คือ ผลมะม่วงนำ้ดอกไม้ที่เก็บเกี่ยวมาเกิดการสุก จนเน่าเสียระหว่างเก็บรักษาและรอการขนส่ง โดยปัญหาที่ 1 เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดปัญหาที่ 2 และปัญหาที่ 3 ซึ่งหากแก้ปัญหาที่ 1 ได้ จะเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยลดการเกิดปัญหาที่ 2 และ 3 ไปด้วย

กิจกรรม 2.2 การตัดสินใจเลือกปัญหาจากสถานการณ์ที่สนใจเพื่อพัฒนาโครงงาน

ให้นักเรียนสำรวจสถานการณ์ที่สนใจ ระบุปัญหา และตัดสินใจเลือกปัญหาที่นักเรียนสนใจในการพัฒนาโครงงาน โดยคำนึงถึง

  • ความสนใจ

  • ผลกระทบของปัญหา

  • ความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา

  • ความพร้อมของสิ่งที่มีอยู่

ตัวอย่างแนวคิดในกิจกรรม

ทำกิจกรรมที่ 2.2 การตัดสินใจเลือกปัญหาจากสถานการณ์ที่สนใจ  คลิกที่นี่

bottom of page